23 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับเห็ด

เมื่อกล่าวถึง “เห็ด(Mushroom)” เชื่อว่าไม่มีใครไม่รู้จักเห็ด ที่นำมาประกอบอาหารได้อย่างเอร็ดอร่อยถึงใจไม่ว่าจะปรุงแต่งในเมนู ผัด นึ่งยำ ทอด อบ ฯลฯ สารพัน ก็ยั่วลิ้นให้หยุดลิ้มรสได้ยาก จนเห็ดกลายเป็นสินค้าเกษตรที่ครองตลาดพืชผักได้มากกว่าพืชผักชนิดไหนๆ ไปแล้ว ด้วยเพราะมีหลายประเภท หลายรสสัมผัสและสามารถเพาะทานได้ตลอดปี แต่ทว่ายังมีเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับเห็ดที่เชื่อว่าหลายคนอาจยังไม่เคยรับรู้มาก่อนก็ได้ว่าเห็ดที่เราเห็นกันจนเจนตานั้นมีที่มาที่ไปหรือมีบทบาทสำคัญอย่างไรต่อชีวิตมนุษย์เราบ้าง ซึ่งเราจะพาไปเรียนรู้เรื่องเห็ดแบบง่ายๆ ให้เหมือนกับธรรมชาติของเห็ด กับ 23 เรื่องเห็ดๆที่หลายคนอาจจะยังไม่เคยรู้กันในวันนี้แล้วเราจะได้รู้จักเห็ดกันมากขึ้น

1.เห็ด ที่เราทานกันในรูปแบบผักมาตลอดนั้นจริงๆ แล้ว ไม่ใช่ผักแต่เป็นเชื้อราชั้นสูงที่จัดอยู่ในประเภทของจุลินทรีย์(Microorganisms)

2.เห็ดไม่ใช่พืช จึงไม่มีสารสีเขียวหรือคลอโรฟิลล์(Chlorophyll) ที่จะทำให้เห็ดสามารถสังเคราะห์อาหารได้เองเหมือนพืช ในการเพาะเลี้ยงเห็ด จึงต้องมีการเตรียมอาหารไว้เพื่อให้เห็ดเติบโต

3.เห็ดเองก็มีเพศไว้เพื่อการสืบพันธุ์ เหมือนสิ่งมีชีวิตอื่นๆบนโลกนี้เช่นกัน ซึ่งเพศของเห็ดคือสปอร์(Spore) และเห็ดบางชนิดก็สืบพันธุ์ได้โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยเพศ

4.เชื้อไมคอร์ไรซา(Micorrhiza) ที่มีการนำไปใช้ร่วมกับการปลูกพืชบางชนิด เช่น ถั่วลิสง และมีการนำไปใช้รักษาอาการรากเน่า-โคนเน่าของพืช คือ เห็ดชนิดหนึ่งที่อาศัยบริเวณรากพืช เพื่อการเติบโตแบบพึ่งพาอาศัยกันและกัน(Symbioticfungi)

5.เห็ดที่ทำให้เกิดโรคแก่สิ่งมีชีวิตอื่น เรียกว่า ปรสิต(Parasitic fungi) เช่น เห็ดที่ทำให้เกิดโรครากขาว ยางพารา

6.เห็ดที่มนุษย์นำมาเพาะทานกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เช่น เห็ดนางรม-นางฟ้า, เห็ดฟาง, เห็ดเข็มเงิน-เข็มทอง ฯลฯ เป็นเห็ดที่ต้อง อาศัยสิ่งมีชีวิตที่ตายแล้วเพื่อการเติบโต(Saprophyticfungi)

7. มนุษย์เราทราบชื่อเห็ดแล้วประมาณ 100,000 ชนิด และคาดว่าจะมีเห็ดอีกมากกว่า 1.5 ล้านชนิดบนโลกนี้ที่มนุษย์ยังไม่ได้ทำความรู้จัก

8.ในแต่ละปีทั่วโลกมีการผลิตเห็ดทุกชนิดรวมกันมากถึงกว่า 4 ล้านตัน โดยมีการผลิตเห็ดแชมปิญองมากที่สุดส่วนใหญ่เป็นผลผลิตจากประเทศอเมริการองลงมาคือเห็ดหอมที่ผลิตกันมากในประเทศญี่ปุ่น ถัดไปเป็นเห็ดฟาง ที่พบว่ามีการผลิตมากที่ประเทศ จีน ไทย ไต้หวัน และ เห็ดนางรม-นางฟ้า ตามลำดับ

9.ในปี พ.ศ.2533 ประเทศจีนขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่ผลิตเห็ดแห้งมากที่สุดในโลก โดยผลผลิตที่จีนผลิตได้ในขณะนั้นคือ 29,000 ตัน

10.สำหรับประเทศไทยมีการผลิตเห็ดฟางมากที่สุด รองลงมาเป็นเห็ดสกุลนางรม เห็ดหูหนู เห็ดหอมและ เห็ดอื่นๆ

11.เห็ด 1 ดอกมีน้ำเป็นส่วนประกอบสูงถึง 90% และเป็นน้ำหนักแห้ง 10% ซึ่งในส่วนของน้ำหนักแห้งนี้คือ โปรตีนไขมัน และ ธาตุอาหารอื่นๆ

12.หากคำนวณจากส่วนที่เป็นน้ำหนักแห้งของเห็ด 10% จะพบว่าใน เห็ดนั้นมีโปรตีนสูง ถึง19-35% ซึ่งสูงกว่าโปรตีนที่มีอยู่ในข้าว ส้ม และ แอปเปิ้ล และมีโปรตีนใกล้เคียงกับถั่วเหลืองที่มีโปรตีนประมาณ 39%

13.เห็ดมีองค์ประกอบหลักเป็นเส้นใย(Fiber) ดังนั้นเห็ดจึงเป็นแหล่งอาหารที่ให้เส้นใยสูง และ

จัดเป็นอาหารที่ย่อยยาก ผู้ที่ระบบการย่อยไม่ดีควรเลี่ยงการทานเห็ด

14.คนที่ดื่มแอลกอฮอลล์หรือของมึนเมาเข้าไปไม่ควรทานเห็ด เพราะแอลกอฮอล์จะไปทำให้สารอัลบูมิน ในเห็ดแข็งตัวมากขึ้น ทำให้ย่อยเห็ดได้ยากขึ้น

15.เห็ดเป็นเชื้อรา ที่นำมาใช้เป็นยารักษาและป้องกันโรคอย่างได้ผล โดยต้นกำเนิดการนำเห็ดมาทำยารักษาโรคนั้นเกิดในประเทศจีนและญี่ปุ่น

16.เห็ดที่นำมาใช้เป็นยาได้แก่ เห็ดหัวลิง(Hericium erinaceus )มีส่วนช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันบรรเทาปวดหลังผ่าตัด ยับยั้งเนื้องอก และ รักษาระบบลำไส้

เห็ดหลินจือ(Ganoderm lucidum) มีส่วนช่วยในการคลายเครียด แก้อ่อนเพลีย ช่วยบำรุงหัวใจและระบบการหายใจ แก้โรคนอนไม่หลับ และต้านไข้หวัด

เห็ดหอม(Lentinus edodus) ใช้เพิ่มภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย รักษาโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ป้องกันโรคตับ รักษาเนื้องอก(ใช้ร่วมกับการฉายรังสี) แต่มีผลข้างเคียงทำให้เม็ดเลือดลดลงต่ำ

เห็ดหูหนูขาว(Themella fuciformis) ช่วยแก้ไอ-หวัด ลดอาการเจ็บปวดเนื่องจากการฉายรังสีเพื่อรักษาเนื้องอก และมีประสิทธิภาพในการรักษามะเร็งเม็ดเลือดได้ถึง 65%

17.ชนชาติแรกในแถบยุโรปที่ทำการเพาะเห็ด คือ ฝรั่งเศษซึ่งเกิดขึ้นเมื่อประมาณ ปีพ.ศ. 2193หรือ กว่า 300 ปีมาแล้วโดยมีวิวัฒนาการในการเพาะเริ่มจากเพาะเห็ดกลางแจ้ง แบบปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม แล้วเปลี่ยนไปเพาะในถ้ำ ในห้องใต้ดิน และโรงเรือนตามลำดับ

18.สถาบันปาสเตอร์ (Pasteur Institute) ประเทศฝรั่งเศษ ถูกจัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2437 เพื่อค้นคว้าทดลองเกี่ยวกับการเพาะเห็ดแชมปิญองจนค้นพบวิธีการทำเชื้อเห็ดแชมปิญองบริสุทธิ์ เป็นที่แรกของโลก ก่อนที่วิทยาการนี้จะแพร่กระจายไปสู่ประเทศ อังกฤษ ออสเตรเลีย ยุโรป อเมริกา และประเทศอื่นๆ อย่างรวดเร็วในช่วงสงครามโลกครั้งที่2

19.ประเทศจีนเป็นประเทศแรกในแถบเอเชียที่ผลิตเห็ดฟางได้จากการนำฟางเก่าที่เห็ดฟางเคยขึ้นมาสุมทับรวมกองกับฟางใหม่ที่แช่น้ำแล้ว

20.การเพาะเห็ดฟางเลียนแบบภูมิปัญญาชาวจีนที่ค้นพบ เกิดขึ้นในประเทศไทยครั้งแรกโดยคนจีนที่บริเวณสะพานซังฮี้ จังหวัดกรุงเทพมหานคร

21.ก่อนจะเรียกชื่อ เห็ดฟาง กันจนติดปากอย่างในปัจจุบัน เห็ดชนิดนี้เคยถูกเรียกว่าเห็ดจีนหรือเห็ดบัวจนติดปากมาก่อน ซึ่งมีที่มาจากการที่ชาวจีนเป็นผู้ค้นพบวิธีการเพาะและเห็ดชนิดนี้ชอบขึ้นบนเมล็ดบัวเก่า

22.ในปี พ.ศ.2479 อาจารย์ก่าน ชลวิจารณ์ เป็นผู้พัฒนาการเพาะเห็ดฟางและค้นคว้าทดลองการทำเชื้อเห็ดฟางบริสุทธิ์ คนแรกของประเทศไทย โดยเพาะจากมูลม้าผสมเปลือกเมล็ดบัวหมักไว้35-45วันจนประสบผลสำเร็จนอกจากนี้ยังเป็นผู้ริเริ่มการเพาะเลี้ยงเห็ดชนิดอื่นๆ เช่น นางรม-นางฟ้า เห็ดหอมเห็ดหูหนูตลอดจนมีการเปิดอบรมส่งเสริมการเพาะเลี้ยงและเขียนตำราเพาะเห็ดเผยแพร่มานับตั้งแต่ปีพ.ศ.2491จนกระจายไปทั่วประเทศอย่างแพร่หลายจนถึงปัจจุบัน

23.ในกลุ่มชนพื้นเมืองเม็กซิกันได้มีการใช้เห็ดกลุ่มหนึ่งที่มีชื่อเรียกว่า”เห็ดโอสถลวงจิต” ที่อยู่ในสกุล Peilocybe ร่วมกับพิธีทาง ไสยศาสตร์ เพื่อให้ผู้ที่อมหรือทานเข้าไปแม้เพียงเล็กน้อย เกิดจินตนาการและภาพหลอน

Facebook Comments