การเลี้ยงสัตว์ปีก ให้แข็งแรง และห่างไกลจากโรคร้าย ด้วยวิธีภูมิปัญญาชาวบ้าน

โรคระบาด เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วยากจะควบคุมได้ไม่ว่าจะเกิดในสังคมของคน พืช หรือ สัตว์บทสรุปสุดท้ายก็ล้วนแล้วแต่เกิดความสูญเสียด้วยกันทั้งสิ้นอย่างเช่นในปีพ.ศ.2553ได้เกิดโรคอหิวาตกโรคระบาดคร่าชีวิตผู้คนไปทั่วโลกประมาณ 3-5 ล้านคน และในปี พ.ศ. 2556-2559 เกิดการแพร่ระบาดรุนแรงของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาที่มีจุดเริ่มต้นในประเทศแถบทวีปแอฟริกา ซึ่งเป็นโรคที่มนุษย์ยากจะรับมือ หากใครได้รับเชื้อจะมีอัตราการตายสูงถึง 90% หรือมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ไม่เกิน 10 วัน โรคระบาดทางการเกษตรเองก็มีอัตราการสูญเสียที่สูงเช่นเดียวกัน

แม้ว่าโรคระบาดทางการเกษตรอาจไม่ทำให้เกษตรกรต้องเจ็บป่วยทางกาย แต่ก็ทำให้เจ็บปวดทางใจได้ไม่น้อยหากตีค่าความเสียหายออกมาเป็นมูลค่าของต้นทุนที่ลงไปไม่ว่าจะเป็นการปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ก็ดีล้วนกระทบต่อผลตอบแทนรายได้ที่คาดว่าจะได้รับด้วยกันทั้งสิ้นซึ่งความเสียหายที่เกิดจากการลงทุนเลี้ยงสัตว์นั้นยิ่งจำต้องเฝ้าระวังอย่างหนักเพราะมีต้นทุนในการผลิตต่อหน่วยสูงกว่าพืชมากนักโดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงประเภทสัตว์ปีกอย่าง ไก่ เป็ด นก ที่มักพบว่ามีโรคระบาดเฉพาะกาลตามธรรมชาติเกิดขึ้นเป็นประจำ ดังจะเห็นได้จากข่าวการสูญเสียที่เกษตรกรจำเป็นต้องฆ่าเป็ด ไก่ นก ที่ป่วยด้วยโรคไข้หวัดนก H5N1 กันยกเล้า เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรคนี้ในสัตว์ปีก เพราะเป็นโรคที่สามารถติดต่อไปยังสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างมนุษย์ได้ การทำลายทิ้งจึงเป็นวิธีรับมือที่จะช่วยยับยั้งการแพร่ระบาดได้ดีที่สุดนอกจากโรคนี้แล้ว ยังจะมีโรคอหิวาต์, โรคนิวคัสเซิล,โรคฝีดาษ, โรคกล่องเสียงอักเสบ, โรคมาเร็กซ์ ฯลฯ ที่คอยสร้างความเจ็บป่วยให้สัตว์ปีกล้มตายได้อีกมากมาย”การเสริมภูมิคุ้มกันให้สัตว์เลี้ยง” จึงเป็นวิธีที่เกษตรกรควรนำมาใช้ในการบริหารจัดการเพื่อเป็นการป้องกันไว้ดีกว่ามาตามแก้

ดังเทคนิคที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ คุณสมศรี เพชรดง เกษตรกรผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงไก่-สัตว์ปีก บ้านวังน้ำทิพย์ อำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น ได้ออกมาเปิดเผยถึงการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่สัตว์ปีกที่ตัวเองเลี้ยงดูว่าไม่มีอะไรยุ่งยากเกินภูมิปัญญาของคนสัญชาติไทยเลยสักนิด เพียงเสริมสมุนไพรไทยให้เป็ด-ไก่กินเป็นประจำ ก็ทำให้เป็ด-ไก่แกร่งกำยำได้โดยไม่ต้องมีต้นทุนเพิ่มเติมมากมาย ซึ่งตนจะใช้ (1.ขมิ้นชัน 1 กิโลกรัม 2.หัวไพลสด 1 กิโลกรัม 3.ปลายข้าว 2 กิโลกรัม 4.รำข้าว 3 กิโลกรัม 5.น้ำเปล่า 3 ลิตร)

จากส่วนผสมตามสูตรข้างต้นให้เริ่มจากการบดสับหัวขมิ้นชันและไพลให้ละเอียดก่อนนำไปผสมกับปลายข้าวรำข้าวและน้ำเปล่าตามสูตร ระหว่างผสมต้องค่อยๆเติมน้ำลงไปคลุกเคล้าให้เข้ากันไปเรื่อยๆจนกว่าส่วนผสมทุกอย่างจะกลายเป็นเนื้อเดียวกัน เมื่อผสมเสร็จแล้วต้องให้ส่วนผสมนั้นมีความหนืดอยู่บ้าง กำแล้วเป็นก้อนไม่เละเหลวจึงจะดี จึงจะนำไปให้สัตว์ปีกกินเพียงมื้อเดียวในช่วงเย็นทุก 10-15 วัน จะทำให้สัตว์ที่เลี้ยงไว้ไม่ค่อยเป็นโรค เป็ด-ไก่โตดี ไม่มีพยาธิ ลดอัตราการตายจากโรคลงได้ ทั้งยังจะได้คุณภาพเนื้อดีกว่าการเลี้ยงด้วยอาหารปกติอีกด้วย

Facebook Comments